การผสมสารฟอร์มาลินลงในน้ำแข็งยูนิค เพื่อไม่ให้น้ำแข็งละลายเร็ว มีจริงหรือ

กรณีที่มีการเผยแพร่ทางสื่อออนไลน์ ถึงการผสมสารฟอร์มาลินลงในน้ำแข็งยูนิค เพื่อไม่ให้น้ำแข็งละลายเร็ว อย. ร่วมกับนักวิชาการทำการทดลอง  ผลปรากฏว่า น้ำแข็งที่ผสมฟอร์มาลิน จะมีลักษณะขุ่นทั้งก้อนและมีกลิ่นฉุน ผู้บริโภคจะสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน

ส่วนการใส่คลอรีน ในน้ำบริโภค ก็เพื่อฆ่าเชื้อโรค ซึ่งสารนี้เป็นสารที่ระเหยง่าย จะถูกกำจัดในกระบวนการปรับคุณภาพน้ำ อยู่แล้ว แนะผู้บริโภคให้ซื้อน้ำแข็งและน้ำดื่มในภาชนะบรรจุปิดสนิท ฉลากมีเครื่องหมาย อย.  พร้อมเลขทะเบียนในกรอบ

นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีการเผยแพร่ทางสื่อออนไลน์ถึงการผสมสารฟอร์มาลินลงในน้ำแข็งยูนิคเพื่อใม่ให้น้ำแข็งละลายเร็ว และการใส่คลอรีนในน้ำบริโภคทุกวัน ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งนั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีการติดตามเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์น้ำแข็งและน้ำดื่มในภาชนะบรรจุปิดสนิทอย่างเข้มงวด ขอให้ผู้บริโภคมั่นใจ ในเรื่องความปลอดภัย สำหรับกรณีข่าวผสมสารฟอร์มาลินในน้ำแข็ง อย. ได้ประสานความร่วมมือกับอาจารย์จากสาขาวิชาการจัดการความปลอดภัยอาหาร คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ทำการทดลองถึงลักษณะและการละลายของน้ำแข็งที่ผสมฟอร์มาลินเปรียบเทียบกับน้ำแข็งธรรมดา ผลการทดลองปรากฏว่า น้ำแข็งที่ผสมฟอร์มาลินมีลักษณะขุ่นทั้งก้อนและ   มีกลิ่นฉุนของฟอร์มาลิน ในขณะที่น้ำแข็งธรรมดาจะมีส่วนที่ขุ่นอยู่ตรงกลางก้อน ส่วนเรื่องของการละลาย ช่วงแรกน้ำแข็งที่ผสมฟอร์มาลินจะละลายได้ช้ากว่า แต่เมื่อสิ้นสุดการทดลองพบว่า น้ำแข็งธรรมดาละลายได้ช้ากว่า  

ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า ฟอร์มาลินไม่มีส่วนช่วยในการทำให้น้ำแข็งตัวกลายเป็นน้ำแข็ง และหากในกระบวนการทำน้ำแข็งมีการใส่สารฟอร์มาลิน ผู้บริโภคสามารถสังเกตได้อย่างชัดเจนจากลักษณะของก้อนน้ำแข็งและกลิ่นฉุน ทั้งนี้ น้ำแข็งที่จำหน่ายทั่วไปนั้นจะต้องได้คุณภาพและมาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเรื่องน้ำแข็ง โดยไม่อนุญาตให้มีการใส่สารฟอร์มาลิน ซึ่งเป็นสารที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภคโดยเด็ดขาด ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 151) พ.ศ. 2536 เรื่อง กำหนดวัตถุที่ห้ามใช้ในอาหาร หากตรวจพบว่ามีการลักลอบใส่ฟอร์มาลิน ถือเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 6(5) พบวัตถุที่ห้ามใช้ในอาหาร ต้องระวางโทษตามมาตรา 47 ปรับไม่เกิน 20,000 บาท ในกรณีของกลิ่นฉุน ที่ติดมากับน้ำแข็งนั้น อาจจะเกิดจากการรั่วของแอมโมเนีย ซึ่งใช้เป็นสารทำความเย็นในกระบวนการผลิตน้ำแข็ง หากผู้บริโภคพบผลิตภัณฑ์ที่มีกลิ่นฉุนดังกล่าว สามารถแจ้งมายัง อย. เพื่อทำการตรวจสอบต่อไปได้

ส่วนการใส่คลอรีนในน้ำ เนื่องจากกระบวนการผลิตน้ำบริโภคในปัจจุบันส่วนใหญ่มาจากน้ำผิวดิน ซึ่งอาจมีการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค จึงมีความจำเป็นต้องใส่สารฆ่าเชื้อเพื่อฆ่าเชื้อโรคที่มาจากน้ำดิบก่อนเข้าสู่กระบวนการ คลอรีนเป็นสารฆ่าเชื้อที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ เนื่องจากเป็นสารที่สามารถควบคุมและเฝ้าระวังการใช้ได้ง่าย และระเหยง่ายกว่าสารฆ่าเชื้อชนิดอื่น ซึ่งปริมาณคลอรีนคงเหลือในน้ำดิบที่ผ่านกระบวนการแล้ว ต้องมีปริมาณไม่น้อยกว่า 0.2 แต่ไม่เกิน 0.5 มิลลิกรัมต่อลิตร หลังจากนั้นน้ำดิบ   จะผ่านกระบวนการปรับคุณภาพน้ำ ซึ่งคลอรีนจะถูกกำจัดในกระบวนการดังกล่าว และเมื่อนำมาผลิต    เป็นน้ำบริโภค อย. ยังได้กำหนดให้น้ำบริโภคนั้น ต้องได้คุณภาพและมาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเรื่อง น้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิทอีกด้วย

รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวในตอนท้ายว่า ขอผู้บริโภคอย่าเพิ่งหลงเชื่อข่าวที่ส่งต่อทางสื่อออนไลน์ เพราะอาจไม่ใช่เรื่องจริง การเลือกซื้อน้ำแข็ง หากเป็นน้ำแข็งหลอดที่บรรจุถุง ควรสังเกตรายละเอียดบนฉลากให้ครบถ้วน เช่น เครื่องหมาย อย. พร้อมเลขสารบบอาหาร 13 หลัก และข้อความ “น้ำแข็งใช้รับประทานได้” ด้วยอักษรสีน้ำเงิน ส่วนน้ำแข็งหลอดตักแบ่งขายตามร้านค้า ร้านอาหารทั่วไป  ผู้บริโภคควรสังเกตสถานที่เก็บและภาชนะที่บรรจุน้ำแข็งซึ่งต้องถูกสุขลักษณะ ไม่มีการใส่น้ำแข็งปนกับอาหารประเภทอื่น โดยก้อนน้ำแข็งเมื่อสังเกตด้วยตาเปล่าต้องมีความใส สะอาด ปราศจากเศษฝุ่นละอองปนเปื้อน ส่วนน้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท ควรเลือกซื้อโดยสังเกตจากภาชนะบรรจุ ต้องสะอาด ไม่มีตะไคร่น้ำ ปิดสนิท ไม่รั่วซึม ไม่มีร่องรอยการเปิดใช้ มีเครื่องหมาย อย. แสดงบนฉลาก ลักษณะของน้ำที่บรรจุอยู่ต้องใสสะอาด ไม่มีตะกอน ไม่มีสี กลิ่น รสที่ผิดปกติ

ทั้งนี้ หากผู้บริโภคพบเห็นผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือไม่ได้รับความปลอดภัยจากการบริโภค สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่ สายด่วน อย. 1556 หรือที่ E-mail: 1556@fda.moph.go.th  หรือตู้ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือร้องเรียนผ่าน Oryor Smart Application หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อ อย. จะดำเนินการตรวจสอบ และดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้กระทำผิดต่อไป

******************************************************************

กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค  10 เมษายน 2558  ข่าวแจก 52 / ปีงบประมาณ พ.ศ. 2558

Read More

หลักการติดตั้ง “เครื่องทำน้ำแข็ง” ที่ดี

ice-machine-installation

หลักการติดตั้งเครื่องทำน้ำแข็งที่ดี

ในการติดตั้งเครื่องทำน้ำแข็งนั้น เราต้องคำนึงถึงองค์ประกอบหลักใน 2 ส่วน คือ

1.  ความต้องการของระบบ

ในการผลิตน้ำแข็งด้วยเครื่องทำน้ำแข็งนั้น เรามีปัจจัยที่สำคัญ 2 อย่างคือ ไฟฟ้าและน้ำ

1.1  ระบบไฟฟ้า

• ระบบไฟฟ้าที่จะจ่ายเข้าเครื่องจะต้องเป็นระดับแรงเคลื่อนที่ตรงกับระบบของเครื่อง
• ในการจ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าเครื่องจะต้องมีชุดเบรกเกอร์ควบคุมไฟฟ้า จากตู้จ่ายกระแสไฟฟ้าไปยังเครื่องผลิตน้ำแข็ง และต้องแยกใช้เฉพาะ โดยเบรคเกอร์จะต้องมีความทนทานกระแสได้ไม่ต่ำกว่าขนาดของเครื่องแต่ละรุ่น
• ขนาดของสายไฟที่นำมาใช้ จะต้องมีขนาดไม่ต่ำกว่า 2 x 4 mm2 หรือสามารถทนกระแสตามข้อระบุ หรือขนาดของเครื่องแต่ละรุ่นได้    • การเดินสายจากตู้เบรคเกอร์ไปยังเครื่องจะต้องเดินในท่อสายไฟเสมอ

1.2  ระบบน้ำ

• น้ำที่จ่ายเข้าเครื่องจะต้องเป็นน้ำที่สะอาด ผ่านการกรองจากเครื่องกรองน้ำทุกครั้ง
• ระบบจ่ายน้ำเข้าเครื่องทำน้ำแข็งจะต้องมีวาล์ว เปิด-ปิด สำหรับการควบคุม ปริมาณน้ำและปรับระดับแรงดันของน้ำที่ไหลเข้าเครื่องให้สมดุล (ประมาณ 15 PSIG)
• จะต้องติดตั้งระบบน้ำทิ้งจากชุดถาดรองรับน้ำของเครื่องผลิตน้ำแข็งส่งต่อไปยังท่อระบายน้ำ

2.  พื้นที่ตั้งเครื่อง

เนื่องจากเครื่องทำน้ำแข็งนั้น มีขนาดแตกต่างกันตามปริมาณการใช้งาน การเลือกสถานที่สำหรับตั้งเครื่องทำน้ำแข็ง
ในแต่ละรุ่นจึงจำเป็นต้องดูให้เหมาะสม โดยนอกเหนือจากขนาดพื้นที่สำหรับวางเครื่องที่เหมาะสมพอดี
เรายังควรคำนึงรายละเอียดอื่นๆดังนี้

2.1 พื้นที่ตั้งเครื่องทำน้ำแข็ง

• พื้นที่ตั้งเครื่องทำน้ำแข็งจะต้องเป็นพื้นที่แข็งแรงไม่ทรุดตัวได้ และพื้นหน้าเป็นระนาบสม่ำเสมอ
• ควรเป็นพื้นที่ร่ม หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับแสงแดดโดยตรง

2.2 ระบบการถ่ายเทอากาศ

• มีระบบการไหลเวียนของอากาศที่ดี โดยมีช่องทางลมให้สามารถระบายอากาศได้

การติตตั้งเครื่องทำน้ำแข็งหากท่านสนใจ อยากปรึกษาเรื่องการติดตั้งเครื่องทำน้ำแข็ง หรือสอบถามปัญหาการใช้งานเครื่องทำน้ำแข็ง
สามารถติดต่อเราได้ทาง โทร. 0-2903-8972-3, 08-3251-7787, 08-1834-8183
ทีมงาน ICEman ภายในการควบคุมดูแลของ บริษัท นิวตั้น แอสโซซิเอท จำกัด
ยินดีให้คำแนะนำ ปรึกษา ตลอดจนบริการต่างๆในทุกเรื่องเกี่ยวกับ เครื่องทำน้ำแข็ง

Read More

ประโยชน์ของ “น้ำแข็ง” ที่คุณยังไม่รู้

OLYMPUS DIGITAL CAMERA
OLYMPUS DIGITAL CAMERA

ประโยชน์ของ “ก้อนน้ำแข็ง”

บทความแนะนำถึงคุณประโยชน์ของ “ก้อนน้ำแข็ง” ที่หลายๆคนมองข้ามมันไป … นอกจากจะใส่ในน้ำดื่มให้เย็นชื่นใจแล้ว มันยังช่วยในการบ่งหนามที่ตำมือเราให้ง่ายขึ้น หรือแม้กระทั่งขจัดปัญหาท่ออุดตันได้เป็นอย่างดี มาดูกันว่ามันมีประโยชน์อะไรอีกบ้าง

• รดน้ำต้นไม้ที่แขวนอยู่

ถ้าคุณลำบากกับการยืนบนบันไดและเอื้อมมือจนสุดตัวเพื่อรดน้ำต้นไม้ที่แขวนอยู่ในมุมอับ ก้อนน้ำแข็งจะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ แค่โยนน้ำแข็งหลายๆก้อนเข้าไปในกระถาง เมื่อน้ำแข็งละลาย ก็จะทำให้ต้นไม้ชุ่มชื้น โดยไม่ต้องอาศัยฝักบัวแม้แต่น้อย วิธีนี้ยังใช้ได้ดีกับต้นไม้ภายในบ้านซึ่งคุณอาจรดน้ำแล้วเลอะพื้นหรือพรมอีกด้วย

• กลบเกลื่อนรสยา

ไม่ว่าเภสัชผู้ปรุงยาจะสรรหาวิธีใดมากลบเกลื่อนรสยาก็ตาม แต่เด็กๆก็ยังไม่วายออกอาการรังเกียจยาอยู่ดี วิธีแก้คือให้เด็กอมน้ำแข็งแล้วค่อยกินยา ความเย็นของน้ำแข็งจะทำให้ตุ่มรับรสชาไปชั่วขณะและทำให้เด็กกลืนยาได้ง่ายขึ้นโดยไม่ต้องเพิ่มน้ำตาล

• ขัดรอยปูนยาแนวให้เรียบ

ในขณะที่กำลังเกลี่ยนปูนยาแนวรอบอ่างอาบน้ำ คุณรู้สึกว่าปูนเหนียว คอยติดอยู่ที่มือตลอดเวลา ถ้าไม่ทำอะไรซักอย่าง ผลงานของคุณจะออกมาน่าเกลียดมาก แก้ปัญหานี้ด้วยการหาก้อนน้ำแข็งมาไล๊ไปตามแนวปูน ซึ่งนอกจากจะทำให้ปูนไม่เหนียวเหนอะติดมือของคุณแล้ว เมื่อแห้งปูนยังจะเนียนสวยอีกด้วย

• บ่งหนาม

ปัญหาท้าทายพ่อแม่อย่างหนึ่ง คือ การบ่งเสี้ยนออกจากมือของลูกน้อยที่เอาแต่ร้องสลับดิ้นพราดๆ ก่อนจะใช้เข็มจัดการจัดการกับเจ้าเสี้ยนเจ้าปัญหาขอให้คุณหยิบก้อนน้ำแข็งมาทาบริเวณที่เสี้ยนตำจนชาเสียก่อน วิธีนี้จะทำให้ลูกน้อยของคุณเจ็บน้อยลง

• ขจัดรอยบุ๋มบนพรม

ถ้าเมื่อเร็วๆนี้คุณโยกย้ายเครื่องเรือนจัดห้องรับแขกใหม่ แล้วพบว่าเฟอร์นิเจอร์ชิ้นต่าง ล้วนฝากรอยบุ๋มไว้บนพรมของคุณ ขจัดได้ง่ายมากด้วยน้ำแข็ง ตัวอย่างเช่น เพียงวางก้อนน้ำแข็งบนรอบบุ๋มซึ่งเป็นจุดที่ขาเก้าอี้เคยตั้งอยู่ เมื่อน้ำแข็งละลายก็แปรงขนบริเวณนั้นให้เรียบ ไม่นานพรมจะฟูคืนรูปเหมือนส่วนอื่นๆ

• ช่วยให้รีดเสื้อผ้าให้เรียบไม่มีที่ติ

เสื้อตัวโปรดของคุณมีรอยยับยุบยั่บเต็มไปหมด แต่คุณไม่มีเวลาซักเพื่อรีดใหม่ ไม่ยากเลย แค่เปิดเตารีดให้ร้อน แล้วหาผ้านุ่มๆมาห่อก้อนนำแข็งไว้ แล้วให้ถูห่อก้อนน้ำแข็งตรงรอบยับย่น ก่อนลงมือรีดตามปกติ เพียงเท่านี้เสื้อตัวโปรดของคุณก็เรียบและพร้อมรับใช้คุณอีกครั้ง

• ป้องกันแผลไฟไหม้เกิดอาการพุพอง

คุณโดนไฟไหม้ใช่ไหม ไม่ต้องตกใจหาน้ำแข็งมาประคบบริเวณรอยไหม้เพื่อป้องกันไม่ให้พุพอง

• ขจัดปัญหาท่อน้ำอุดตัน

ถ้าท่อระบายน้ำของคุณมีอาการติดขัด น้ำไหลไม่สะดวกเท่าที่ควร อาจจะเป็นเพราะไขมันจากอาหาร เครื่องดื่มประเภทนม หรือกาแฟใส่ครีมไปอุดตันอยู่ โดยค่อยๆสะสมคราบอยู่ตามน้ำทิ้งที่เราตามไปกำจัดได้ยาก หากการอุดตันไม่มีสิ่งแปลกปลอมอื่นๆ ไปขัดขวางของทางเดินน้ำเช่นนี้แล้ว น้ำแข็งช่วยแก้ปัญหานี้ได้ โดยโยนน้ำแข็งก้อนเล็กๆลงไปในท่อ ไขมันจะมาเกาะอยู่ตามก้อนน้ำแข็งให้ท่อโล่งขึ้นเพราะปราศจากสิ่งตกค้างเกาะติดผนังท่อ อีกวิธีหนึ่งใช้น้ำแข็งประมาณ 1 กำมือ คลุกเข้ากับเบกกิ้งโซดา 1/2 ถ้วยจะช่วยขัดล้างภายในท่อได้สะอาดปลอดภัย ถ้าอยากขจัดกลิ่นด้วย เติมเปลือกมะนาวหรือส้มหั่นละเอียดใส่ลงไปด้วยเป็นครั้งคราว

• ลดไขมันในซุปและสตูว์

อยากขจัดไขมันออกจากซุปหรือสตูว์ที่ทำเองให้มากที่สุดใช่หรือไม่ เรื่องนี้ง่ายนิดเดียว เพียงแต่เอาน้ำแข็งใส่ให้เต็มทัพพีแล้วจุ่มก้นทัพพีลงในหม้อซุปหรือหม้อสตูว์ไขมันจะมาเกาะอยู่ที่ก้นทัพพี

• ทำให้น้ำสลัดเหนียวข้น

คุณอยากให้น้ำสลัดที่ปรุงขึ้นเองกับมือมีลักษณะเหนียวข้นเหมือนกับน้ำสลัดที่บรรจุขวดขายใช่ไหม ลองวิธีต่อไปนี้ ในส่วนผสมของน้ำสลัดทุกอย่างในชามที่มีฝาปิดแล้วเติมน้ำแข็งลงไปซัก 2-3 ก้อน ปิดฝาชามแล้วเขย่าอย่างเต็มที่ ตักน้ำแข็งออก แค่นี้คุณก็ได้น้ำสลัดพร้อมเสิร์ฟซึ่งจะทำให้แขกของคุณประทับใจ เพราะมันทั้งเหนียวและข้นน่ารับประทานจริงๆ

• อุ่นข้าวให้ร้อนอีกครั้ง

ปัญหาอย่างหนึ่งคือเวลาอุ่นข้าวในไมโครเวฟคือข้าวแห้ง วิธีแก้คือวางก้อนน้ำแข็งก้อนหนึ่งลงบนข้าวที่จะอุ่นในเตาไมโครเวฟ น้ำแข็งจะละลายขณะข้าวเริ่มร้อนขึ้นมาทำให้ข้าวได้รับความชื้นไปทดแทนส่วนที่สูญเสียไป

• ป้องกันซอสไม่ให้จับตัวเป็นก้อน

ถ้าบังเอิญเพื่อนในหมู่บ้านเดียวกันซึ่งเป็นคนที่ชอบนินทาลับหลัง แวะมากินข้าวบ้านคุณในตอนสายของวันอาทิตย์ อาหารที่คุณเตรียมไว้คือไข่เบเนดิกต์ แต่ขณะที่คุณกำลังผสมเนยแข็งกับไข่แดงและน้ำมะนาวเข้าด้วยกันเพื่อทำเป็นซอสสไตล์ฮอลแลนด์ ปรากฎว่ามันจับตัวเป็นก้อน คุณจะทำอย่างไรดีซอสถึงไม่จับเป็นก้อนอย่างนี้ วิธีแก้ไขคือ ใส่น้ำแข็งก้อนลงในกระทะแล้วคนไปเรื่อยๆ ไม่นานซอสของคุณก็จะเหนียวข้นน่ากินอย่างที่คุณหวังไว้

• น้ำเย็นชื่นใจสำหรับสัตว์เลี้ยงของคุณ

ลองนึกภาพว่าคุณรู้สึกร้อนแค่ไหนถ้าต้องสวมเสื้อขนสัตว์ในช่วงฤดูร้อน สัตว์เลี้ยงของคุณก็รู้สึกเช่นนั้น ไม่ว่าจะเป็นกระต่ายหรือหนูแฮมสเตอร์ พวกมันจะต้องสำนึกในบุญคุณของคุณที่เอาใจใส่มันเป็นอย่างดีถ้าคุณเอาน้ำแข็งสัก 2-3 ก้อนมาวางในถ้วยใส่น้ำให้มันเพื่อคลายร้อน วิธีนี้ใช้ได้ดีกับเจ้าเหมียวซึ่งชอบนอนเขลงอยู่บนเตียงของคุณในเช้าอากาศร้อน หรือเจ้าตูบซึ่งเพิ่งวิ่งเล่นจนลิ้นห้อยอยู่ในสวน

• ช่วยทำความสะอาดพรมหน้าบ้าน

พรมหน้าบ้านเป็นจุดที่รับงานหนักที่สุด บางทีมีรอยเทียนไขหยดใส่ หรือหมากฝรั่งเอาพรมมาปัดฝุ่นตีออกก็แล้ว รอยดื้อด้านดังกล่าวยังอยู่ลองใช้น้ำแข็งถูลอยเทียนไขหรือหมากฝรั่ง พอโดนความเย็นมันจะแข็งกรอบ เอาอะไรแข็งๆขูดออกได้

• กำจัดสีเทียนที่พื้นไม้หรือเครื่องเรือน

หนูน้อยละเลงสีเทียนออกนอกจากกระดาษเลอะพื้นหรือเครื่องเรือนบ่อยๆ บางทีก็จงใจใช้พื้นแทนกระดาษเสียเลย ทำความสะอาดอย่างไรดีล่ะเนี่ย ไม่อยากหรอก ใช้น้ำแข็งถูรอยเปื้อนก่อนและขูดออกได้ง่าย

• ขจัดหมากฝรั่งจากเสื้อผ้า

คุณกำลังก้าวออกจากบ้าน ในทันใดนั้นลูกชายตัวดีชี้ให้ดูว่ามีหมากฝรั่งติดอยู่ที่กางเกงของเขา ใจเย็นๆ อย่าโวยวาย จงวิ่งไปหยิบน้ำแข็งมาก้อนหนึ่งแล้วถูตรงหมากฝรั่งแรงๆ เพื่อให้มันแข็งตัวจากนั้นใช้ช้อนขูดออกให้สะอาด

• แก้ปวดฟัน

ไม่น่าเชื่อ แถมอธิบายไม่ได้ แต่ได้ผลน่าพอใจ ลองดูไหม ใช้น้ำแข็งวางบนหลังมือบริเวณง่ามนิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้ของมือข้างเดียวกับฟันที่ปวด สักพักอาการปวดจะบรรเทาว่ากันว่าจุดที่วางน้ำแข็งนั้นเป้นจุดที่ใช้ฝังเข็มบรรเทาอาการปวดฟันนั่นเอง

• กำจัดสีเทียนที่พื้นไม้หรือเครื่องเรือน

หนูน้อยละเลงสีเทียนออกนอกจากกระดาษเลอะพื้นหรือเครื่องเรือนบ่อยๆ บางทีก็จงใจใช้พื้นแทนกระดาษเสียเลย ทำความสะอาดอย่างไรดีล่ะเนี่ย ไม่อยากหรอก ใช้น้ำแข็งถูรอยเปื้อนก่อนและขูดออกได้ง่าย

ไม่น่าเชื่อว่า ประโยชน์จากเจ้า “ก้อนน้ำแข็ง” ที่เรามองข้ามไป จะมีมากถึงเพียงนี้ เมื่อเรารู้เทคนิคที่ไม่คาดคิดเหล่านี้แล้ว ต่อจากนี้เราคงจะใช้ประโยชน์จากก้อนน้ำแข็งได้หลายหลากมากยิ่งขึ้น

ที่มา http://www.bareo-isyss.com/67/67_ice.html

Read More

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ “น้ำแข็ง”

เครื่องทำน้ำแข็งสะอาด2

เครื่องทำน้ำแข็ง ICEman ขอเป็นส่วนหนึ่งบทความดี ๆ จาก อ.ย.

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีอากาศร้อน และนับวันจะร้อนมากขึ้นทุกที สภาพอากาศ ร้อนเช่นนี้ “น้ำแข็ง” จึงเป็นผลิตภัณฑ์หนึ่งที่เข้ามามีบทบาท สำคัญในชีวิตประจำวันของทุกคน เพราะน้ำแข็ง จะช่วยบรรเทาให้คลายร้อน จึงเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย นอกจากจะนำน้ำแข็งมารับประทาน โดยตรงแล้ว ยังมีการนำน้ำแข็งมาใช้ประโยชน์ได้หลายทาง เช่น ผสมเครื่องดื่ม ใช้แช่อาหารสดเพื่อถนอมอาหาร รักษาสภาพของอาหาร และใช้ในอุตสาหกรรมประมง เป็นต้น หากน้ำแข็งที่ใช้รับประทานโดยตรงไม่สะอาดพอ มีจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคปนเปื้อนอยู่ก็อาจเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดอาการป่วยจากโรคติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยในการบริโภคน้ำแข็ง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จึงควบคุมการผลิตโดยการกำหนดคุณภาพมาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 78 (พ.ศ.2527) และ ฉบับที่ 137 (พ.ศ.2534) เรื่อง น้ำแข็ง เพื่อกำหนดคุณภาพหรือมาตรฐาน กรรมวิธีการผลิต การใช้น้ำในการผลิต สถานที่เก็บรักษาน้ำแข็ง การใช้ภาชนะบรรจุน้ำแข็ง ตลอดจนการแสดงฉลาก เรื่องน่ารู้ที่เกี่ยวกับน้ำแข็งยังมีอีกมากมายหลายเรื่อง ติดตามอ่านกันได้…

ความหมายของน้ำแข็ง

น้ำแข็ง” หมายถึง น้ำที่นำมาผ่านกรรมวิธีทำให้เยือกแข็ง ซึ่งแบ่งเป็น 2 ชนิด ตามกรรมวิธีการผลิตดังนี้

1. น้ำแข็งชนิดซอง เป็นน้ำแข็งที่ผลิตโดยวิธีการแช่แข็งในบ่อน้ำเกลือ มี 2 ชนิด คือ

1.1 น้ำแข็งใช้รับประทานได้ จะต้องใช้น้ำที่ผ่านขั้นตอนการปรับคุณภาพแล้วนำไปผลิตเป็นน้ำแข็งก้อนใหญ่ จะมีขั้นตอนการเป่าลมเพื่อให้น้ำแข็งทั้งก้อนใส
1.2 น้ำแข็งใช้รับประทานไม่ได้ นิยมใช้ในทางการประมงเพื่อแช่อาหารทะเล กรรมวิธีเช่นเดียวกับน้ำแข็งที่ใช้รับประทานได้เพียงแต่ไม่มีขั้นตอนการเป่าลม ทำให้กึ่งกลางก้อนน้ำแข็งไม่ใส มีสีขาวขุ่น

2. น้ำแข็งชนิดก้อนเล็ก เป็นน้ำแข็งที่ทำด้วยเครื่องจักรอัตโนมัติ มีลักษณะเป็นก้อนหรือหลอดหรือเกล็ด ซึ่งมักเรียกกันติดปากว่า “น้ำแข็งหลอด”

โดยจะนำน้ำที่ผ่านขั้นตอนการปรับคุณภาพแล้วเข้าเครื่องทำน้ำแข็งอัตโนมัติ

กรรมวิธีการผลิตน้ำแข็ง

ในการผลิตน้ำแข็งไม่ว่าจะเป็นน้ำแข็งซองหรือน้ำแข็งหลอดจำเป็นต้องเริ่มต้นจากสถานที่การผลิตที่ถูกสุขลักษณะ การควบคุมการผลิตที่ถูกต้อง รวมทั้งการควบคุมสุขลักษณะส่วนบุคคลของผู้ปฏิบัติงานตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิต หรือ จีเอ็มพี (GMP : Good Manufacturing Practice) ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 193) พ.ศ.2543 เรื่อง วิธีการผลิต เครื่องมือเครื่องใช้ในการผลิต และการเก็บรักษาอาหาร ตามหลักเกณฑ์ที่ดีในการผลิตอาหารว่าด้วยสุขลักษณะทั่วไป การผลิตน้ำแข็งซองและน้ำแข็งหลอดประกอบด้วยขั้นตอนหลัก ๆ ดังนี้

1. กระบวนการปรับปรุงคุณภาพน้ำ เป็นกระบวนการปรับปรุงน้ำดิบ ให้มีคุณภาพเทียบเท่าน้ำบริโภค ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 61 (พ.ศ.2524) และฉบับที่ 135 (พ.ศ.2534) เรื่องน้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท

2. กระบวนการแช่แข็งน้ำ มี 2 ลักษณะ คือ
– น้ำแข็งซอง เป็นกระบวนการแช่น้ำให้แข็งในบ่อน้ำเกลือ ซึ่งมีสารทำความเย็นหล่อน้ำเกลือให้เย็นและกระจายความเย็นไปยังซองน้ำแข็ง ทำให้น้ำในซองแข็งตัวจนเต็มทั้งซอง จึงยกขึ้นถอดซองน้ำแข็งออก
– น้ำแข็งหลอด เป็นกระบวนการทำให้น้ำเป็นน้ำแข็งภายในเครื่องผลิตน้ำแข็งหลอดระบบปิด

3. กระบวนการบรรจุและขนส่ง
– น้ำแข็งซอง ไม่มีการบรรจุ เพียงฉีดน้ำล้างทำความสะอาดภายนอก ตัดเป็นก้อนแล้วนำขึ้นรถขนส่ง บางครั้งจะมีการบด บรรจุกระสอบแล้วนำขึ้นรถขนส่ง
– น้ำแข็งหลอด มีการบรรจุในถุงพลาสติก ขนาดบรรจุ 1 กิโลกรัม และบรรจุในกระสอบ ขนาดบรรจุ 20 กิโลกรัม หลังจากนั้นจัดเก็บแล้วนำขึ้นรถขนส่งเพื่อจำหน่ายต่อไป

คุณสมบัติของน้ำที่ใช้ผลิตน้ำแข็ง

การผลิตน้ำแข็งเพื่อจำหน่ายที่มีวัตถุประสงค์ให้ใช้รับประทานนั้น จะต้องใช้น้ำสะอาดและได้มาตรฐานตามที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 78 (พ.ศ.2527) และฉบับที่ 137 (พ.ศ.2534) เรื่อง น้ำแข็ง ดังต่อไปนี้

1. คุณสมบัติทางฟิสิกส์ น้ำที่นำมาผลิตน้ำแข็งจะต้องไม่มีสี ไม่มีกลิ่น แต่จะไม่รวมถึงกลิ่นคลอรีน ความขุ่นจะต้องไม่เกิน 5.0 ซิลิกาสเกล และค่าความเป็นกรด-ด่าง ต้องอยู่ระหว่าง 6.5 ถึง 8.5

2. คุณสมบัติทางเคมี น้ำที่นำมาผลิตน้ำแข็งจะต้องมีคุณสมบัติทางเคมี เช่น ปริมาณสาร ทั้งหมด (Total-Solid) ไม่เกิน 500.0 มิลลิกรัมต่อน้ำสะอาด 1 ลิตร ความกระด้างทั้งหมด โดยคำนวณเป็นแคลเซียมคาร์บอเนตไม่เกิน 100.0 มิลลิกรัมต่อน้ำสะอาด 1 ลิตร แคดเมียมไม่เกิน 0.005 มิลลิกรัมต่อน้ำสะอาด 1 ลิตร และเหล็กไม่เกิน 0.3 มิลลิกรัมต่อน้ำสะอาด 1 ลิตร เป็นต้น

3. คุณสมบัติเกี่ยวกับจุลินทรีย์ น้ำที่นำมาผลิตน้ำแข็งจะต้องไม่มีบักเตรีชนิด อี.โคไล (Escherichia Coli) ไม่มีจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค และตรวจพบบักเตรีชนิดโคลิฟอร์มน้อยกว่า 2.2 ต่อน้ำสะอาด 100 มิลลิลิตร โดยวิธี เอ็มพีเอ็น (Most Probable Number)

การเก็บรักษาและภาชนะบรรจุ

ในการจำหน่ายน้ำแข็ง จำเป็นต้องมีวิธีเก็บรักษา สถานที่เก็บรักษาและภาชนะบรรจุที่ถูกต้องเพื่อความปลอดภัยในการบริโภคน้ำแข็ง โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. ในการเก็บรักษาน้ำแข็ง ห้ามมิให้ใช้แกลบ ขี้เลื่อย กระสอบ กาบมะพร้าว เสื่อ หรือวัสดุอย่างอื่นในทำนองเดียวกันปกคลุมหรือห่อหุ้มน้ำแข็ง

2. สถานที่เก็บรักษาน้ำแข็งเพื่อจำหน่ายหรือที่จำหน่ายน้ำแข็งที่มีวัตถุประสงค์ใช้รับประทานจะต้องมีคุณสมบัติดังนี้
– สะอาดและมีระดับสูงกว่าทางเดินภายในบริเวณสถานที่เก็บรักษาน้ำแข็ง
– ทำด้วยวัสดุที่ไม่เป็นพิษและเป็นวัสดุพื้นผิวเรียบ รักษาความสะอาดได้ง่าย
– มีลักษณะที่ง่ายต่อการทำความสะอาดและมีลักษณะปกปิดที่ป้องกันมิให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดจากภายนอกปนเปื้อนน้ำแข็งได้

3. ภาชนะบรรจุที่ใช้บรรจุน้ำแข็งเพื่อจำหน่ายหรือที่จำหน่ายน้ำแข็งที่มีวัตถุประสงค์ใช้ รับประทานจะต้องมีคุณสมบัติดังนี้
– ภาชนะต้องสะอาด ไม่มีโลหะหนัก หรือสารอื่นออกมาปนเปื้อนกับน้ำแข็งในปริมาณที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
– ต้องไม่มีจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค และไม่มีสีออกมาปนเปื้อนกับอาหาร
– ต้องไม่เคยใช้บรรจุหรือหุ้มห่อปุ๋ย วัตถุมีพิษ หรือวัตถุที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
– ต้องทำด้วยวัสดุที่ไม่เป็นพิษและเป็นวัสดุพื้นผิวเรียบ รักษาความสะอาดได้ง่าย
– ต้องง่ายต่อการทำความสะอาด และมีลักษณะปกปิดป้องกันมิให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดจากภายนอกมาปนเปื้อนน้ำแข็งได้
– ต้องไม่เคยบรรจุผลิตภัณฑ์อื่นนอกจากน้ำแข็ง และไม่มีรูปรอยประดิษฐ์หรือข้อความใดที่แสดงว่าเป็นภาชนะบรรจุที่ใช้บรรจุสิ่งของอื่น
– ภาชนะบรรจุพลาสติกที่เป็นแผ่นหรือถุงจะต้องไม่มีสี หรือไม่ทำขึ้นจากพลาสติกที่ใช้แล้ว ยกเว้นกรณีพลาสติกลามิเนต (Laminate) เฉพาะชั้นที่ไม่สัมผัสโดยตรงกับอาหาร

บริโภคน้ำแข็งอย่างไรให้ปลอดภัย

เพื่อให้น้ำแข็งที่จำหน่ายหรือบริโภคสะอาดปลอดภัยไม่มีสิ่งปนเปื้อน โดยเฉพาะเชื้อจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรค ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ผู้ขนส่ง และผู้บริโภคควรจะต้องปฏิบัติดังนี้

1. ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย และผู้ขนส่ง วิธีการที่จะช่วยลดการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ได้ คือ ขณะทำการขนส่งน้ำแข็งควรมีภาชนะรองรับ ไม่วางกับพื้นโดยตรง หากจำเป็นหรือมีข้อจำกัดของพื้นที่ ขอให้แยกพื้นที่ที่ทำการขนส่งเป็นสัดส่วน และทำความสะอาดฆ่าเชื้อพื้นอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะก่อนทำการขนส่ง นอกจากนี้ผู้ปฏิบัติงาน ณ บริเวณขนส่งควรแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่สะอาด ล้างมือทุกครั้งก่อนปฏิบัติงาน สวมรองเท้าที่สะอาด และควรเป็นรองเท้าคนละคู่กับรองเท้าที่ปนเปื้อนจากนอกบริเวณขนส่ง ไม่สูบบุหรี่หรือมีพฤติกรรม อื่น ๆ ที่น่ารังเกียจขณะทำการขนส่งและที่สำคัญห้ามใช้เท้าสัมผัสน้ำแข็ง ในส่วนของรถขนส่งนั้น ต้องเป็นรถที่สะอาด โดยเฉพาะพื้นรถที่วางน้ำแข็งต้องมีการล้างฆ่าเชื้อก่อนทำการขน และมีมาตรการควบคุมอุณหภูมิน้ำแข็งให้สม่ำเสมอ

2. ผู้บริโภค ก่อนจะซื้อน้ำแข็งควรจะต้องเลือกซื้ออย่างระมัดระวัง สำหรับน้ำแข็งหลอดที่บรรจุถุงผู้บริโภคควรจะต้องสังเกตรายละเอียดบนฉลากฉลากต้องมีข้อความภาษาไทย แต่จะมีภาษาต่างประเทศด้วยก็ได้ และจะต้องมีข้อความแสดงรายละเอียด ดังต่อไปนี้

– ชื่ออาหาร (ถ้ามี)
– เลขสารบบอาหาร ในเครื่องหมาย อย. เช่น
– ข้อความว่า “น้ำแข็งใช้รับประทานได้” ด้วยตัวอักษรสีน้ำเงิน
– ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต
– น้ำหนักสุทธิเป็นระบบเมตริก

นอกจากนี้น้ำแข็งหลอดที่ตักแบ่งจำหน่ายตามร้านค้าทั่วไป หรือตามร้านอาหารจะเป็นน้ำแข็งที่จำหน่ายโดยไม่ต้องมีฉลาก ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยในการบริโภคน้ำแข็งดังกล่าว ผู้บริโภคควรสังเกตน้ำแข็ง สถานที่เก็บรักษา ภาชนะที่บรรจุต้องสะอาดไม่มีการปนเปื้อน หากเป็นน้ำแข็งซองควรซื้อมาบริโภคทั้งก้อน โดยนำมาล้างน้ำให้สะอาดก่อนทุบหรือบด และเมื่อทุบหรือบดแล้วก็ควรใส่ไว้ในภาชนะบรรจุที่สะอาดด้วยจะเห็นได้ว่าการผลิตน้ำแข็งบริโภคนั้น จะต้องผ่านกระบวนการหลายอย่างกว่าจะถึงมือผู้บริโภค ถ้าหากผู้ผลิตไม่มีความระมัดระวังตั้งแต่ต้น เริ่มจาก คุณภาพของน้ำที่นำมาผลิต การเก็บ การขนส่ง รวมถึงภาชนะที่ใช้บรรจุน้ำแข็ง หากไม่สะอาดพอก็อาจก่อให้เกิดปัญหาการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรคได้ ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจึงได้ควบคุมผู้ผลิตน้ำแข็งเพื่อจำหน่ายในเรื่องของคุณภาพมาตรฐานต่าง ๆ เช่น ต้องมีวิธีการผลิตที่ถูกสุขลักษณะ ต้องมีการควบคุมกระบวนการผลิตให้สอดคล้องกับ ข้อกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิต หรือ จีเอ็มพี เพื่อลดปัญหาการปนเปื้อนดังกล่าว หากฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตามจะมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท ส่วนในด้านผู้บริโภค ก่อนที่จะซื้อน้ำแข็งก็ควรจะระมัดระวังในการเลือกซื้อมาบริโภค โดยการสังเกตฉลากน้ำแข็ง สถานที่เก็บรักษา และภาชนะบรรจุต้องสะอาด เพื่อความปลอดภัยในการบริโภคด้วย

Read More