เอกสารบันทึก ราว พ.ศ.2400 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
มีเรือกลไฟชื่อ “เจ้าพระยา” เดินเมล์รับส่งสินค้าระหว่างสิงคโปร์กับกรุงเทพฯ ใช้เวลา 15 วัน ในบรรดาสินค้าจากสิงคโปร์ยามนั้นมีของแปลกอย่างหนึ่ง คือ “น้ำแข็ง” บรรจุหีบกลบด้วยขี้เลื่อยส่งเข้ามาถวาย จากนั้นก็แพร่หลายในหมู่เจ้านาย และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่
โดยผู้ที่สั่งน้ำแข็งเข้าเมืองไทยยุคนั้น คือ พระยาพิสนธ์สมบัติบริบูรณ์ (ยิ้ม พิศลยบุตร) ครั้งยังมีบรรดาศักดิ์เป็น พระภาษีสมบัติบริบูรณ์ เจ้าของเรือเจ้าพระยานำเข้าน้ำแข็งเช่นเดียวกับหนังสือพิมพ์ต่างประเทศ สินค้าหรูหราจากยุโรป
พ.ศ.2411 มีสุริยุปราคาเต็มดวงที่หว้ากอ รัชกาลที่ 4 ทรงเชิญนักปราชญ์จากยุโรป พร้อม เซอร์แฮรี่อ็อต ผู้ว่าการเมืองสิงคโปร์ เป็นพระราชอาคันตุกะมาดูสุริยุปราคา โดยจัดการที่พัก อาหารการกิน ตามแบบอย่างอารยประเทศสมบูรณ์แบบทุกประการ เป็นการแสดงให้เห็นว่าสยามไม่ได้เป็นเมืองป่าเถื่อนอย่างที่ฝรั่งเข้าใจกัน การรับรองครั้งนั้น น้ำแข็ง มีส่วนเสริมสร้างการดื่มของพระราชอาคันตุกะอย่างสำคัญ ถึงกับเซอร์แฮรี่อ็อต บันทึกความประทับใจไว้
ความว่า “พระภาษีสมบัติบริบูรณ์ ซึ่งรับหน้าที่เป็นผู้จัดอาหารเลี้ยงแขกเมือง นำเอาพ่อครัวฝรั่งเศสเข้ามาให้รู้จักพร้อมด้วยชาวอิตาลีหนึ่งคน และลูกมือชาวเมืองอีกหลายคน จัดการเลี้ยงดูอย่างฟุ่มเฟือยบริบูรณ์ ของอร่อยที่หาไม่ได้ในแถบนี้ก็จัดหามาจากสิงคโปร์ การทำกับข้าวก็ทำอย่างประณีต มีทั้งเหล้าและไวน์ต่างๆ น้ำแข็งก็บริบูรณ์ อาจจะกล่าวได้ว่าไม่มีอะไรที่ต้องการอีก”
ต่อมา พ.ศ.2448 รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระยาภักดีนรเศรษฐ (เลิศ เศรษฐบุตร) ดำเนินธุรกิจเรือเมล์รุ่งเรืองเช่นเดียวกับกิจการโรงน้ำแข็งซึ่งเป็นโรงน้ำแข็งแห่งแรกของประเทศไทย ตั้งขึ้นที่สะพานเหล็กล่าง ถนนเจริญกรุง ชื่อว่า “น้ำแข็งสยาม” แต่กลับเป็นที่รู้จักกว้างขวางในชื่อ โรงน้ำแข็งนายเลิศ นับแต่นั้นน้ำแข็งก็แพร่ขยายไปสู่หัวเมืองใหญ่ๆ รอบนอกกรุงเทพฯ
คนเฒ่าคนแก่ในสมัยนั้น ไม่เชื่อว่าจะทำน้ำแข็งได้จริง ถึงกับออกปากว่า “จะปั้นน้ำเป็นตัวได้อย่างไร”
ข้อมูลนำมาจาก
คอลัมน์ รู้ไปโม้ด น้าชาติ
รูปภาพประกอบ จาก เครื่องทำน้ำแข็งICEman